สาส์นจากคณบดี

        เราใช้เวลากว่าสามปีร่วมกับการเดินทางนับหมื่นกิโลเมตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อหาข้อมูลและแนวทางความร่วมมือต่างๆสำหรับนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

         ขณะนี้เราถูกบุกรุกทางด้านอุตสาหกรรมบันเทิงโดยเฉพาะงานทางด้านดนตรีอย่างหนักจากภายนอกประเทศ หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุตสาหกรรมดนตรี มีการ  นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับอุตสาหกรรมดนตรีทำให้มีผลกระทบทำให้กระบวนการจัดจำหน่ายเปลี่ยนแปลงไป  รายได้จากการจัดจำหน่ายแบบเดิมแทบจะหามูลค่าไม่ได้เลยทำให้ยักษ์ใหญ่หรือเจ้าของอุตสาหกรรมการผลิตดนตรีหลายราย ต้องเบนเข็มไปสนใจธุรกิจอื่นๆแทน จากจุดเองนี้เป็นจุดหักเหของวงการดนตรีในประเทศไทยเป็นอย่างมาก  จากที่เคยมีการปลุกปั้นวงดนตรีและแนวดนตรีใหม่ๆให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ มีการทัวคอนเสิร์ตให้ศิลปินหน้าใหม่ได้มีโอกาสเสนอผลงานตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะในสถานศึกษา ผมยังจำได้ตอนที่เป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ทุกๆปีจะมีศิลปินมาเวียนมาเล่นฟรีคอนเสิร์ต          ให้พวกเราได้ชมกันหลายรอบ สิ่งเหล่านี้ได้หายไปจากวงการดนตรีในประเทศไทย ผู้บริโภคหันไปเสพงานเพลงทางอินเตอร์เน็ตแทน รายได้ต่างๆที่เกิดขึ้นบางส่วน  ถูกส่งออกไปต่างประเทศ  ขาดผู้ที่จะมาลงทุนสนับสนุนให้เกิดผลงานใหม่ๆขึ้น จุดนี้เองทำให้วงการดนตรีของประเทศไทยมีความอ่อนแอเป็นอย่างมากทั้งที่เรามีบุคคลากรที่มีฝีมืออยู่มาก แต่ขาดการสนับสนุน ในทางกลับกันอุตสาหกรรมดนตรีในต่างประเทศมีการพัฒนารุดหน้าไปอย่างมากโดยอาศัยเทคโนโลยี มีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีกันอย่างแพร่หลาย ในบางประเทศกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ  เพราะเขาเล็งเห็นผลประโยชน์มหาศาลที่จะตามมาโดยใช้อุตสาหกรรมทางด้านดนตรีเป็นตัวนำ และได้พยายามแผ่ขยายอุตสาหกรรมดังกล่าวไปยังต่างประเทศอื่นๆ รวมถึงในประเทศไทยด้วย จากเราที่มีความอ่อนแอทางด้านนี้อยู่แล้ว เราก็ตอบรับการแพร่ขยายของเขาเข้าไปอย่างเต็มที่ คนไทยรวมทั้งเยาวชนรุ่นใหม่เสพงานเขาเข้าไป คงปฎิเสธไม่ได้ที่ดนตรีสามารถเข้าถึงคนได้ง่ายทุกชนชั้น จากนั้นเขาสามารถที่จะแฝงสิ่งต่างๆ ให้เข้าไปกับดนตรีที่เขาเผยแพร่ได้ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียนประเพณี วัฒนธรรม อาหารการกิน แม้แต่สินค้าที่เขาขาย เรากำลังถูกครอบงำทางการบริโภคอย่างรุนแรง ถ้าเราไม่ผลิตผลงานที่เป็นอัตลักษณ์ของเราขึ้นมา เราจะสูญเสียอย่างมหาศาล วันข้างหน้าศิลปินเราจะไม่มีที่ยืน แม้ในบ้านตัวเอง ต้องปรับตัวให้เข้ากับเทรนที่เขากำหนดถึงจะอยู่รอด คอนเสิร์ตที่เราเคยจัดเป็นสิบๆรอบเต็มทุกครั้ง  โดยศิลปินไทยจะกลายเป็นตำนานเล่าขานให้ลูกหลานได้ฟังว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีศิลปินที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงกับอุตสาหกรรมดนตรีของประเทศไทย

          สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมอยู่แล้ว เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงพยามยามที่จะเอาความรู้ความสามารถที่เรามีอยู่มาช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมดนตรีของบ้านเรา  ให้ทัดเทียมนานาประเทศ นี่เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวความคิดในการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสมขึ้นมาในประเทศไทย เราจะใช้ความรู้ความสามารถทางด้านวิศวกรรม และเทคโนโลยีที่เรามี  อยู่ร่วมกับบุคคลในวงการที่มีความเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศช่วยกันผลิตบุคคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อมาช่วยกันผลักดันให้วงการอุตสหกรรมดนตรีของเรามีมาตรฐานในระดับสากล  จะได้เป็นกำลังสำคัญอีกทางหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนวงการดนตรีของเราให้คงอยู่  และพัฒนาให้แพร่กระจายออกไปทั่วโลกดังเช่นหลายประเทศที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ เพื่อไม่ให้วงการอุตสาหกรรมดนตรีบ้านเราเป็นเพียงแค่ตำนาน

ติดต่อสอบถาม

02-329-8197

imse@kmitl.ac.th

วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ถนนฉลองกรุง ลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520

Scroll to Top